มีเพศสัมพันธ์ไม่ระวัง! ทำไมถึงเสี่ยงมะเร็งช่องปาก

HPV สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งช่องปาก

ถ้าให้เอ่ยชื่อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มาสัก 3-4 ชื่อ ชื่อแรกๆที่คนไทยมักจะนึกถึงคือ โรคเอดส์(HIV), โรคหนองใน, โรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบ เป็นต้น

โรคติดต่อที่เรานึกถึงนั้น เราอาจจะไม่ทันได้สังเกตเลยว่า ยังมีอีกโรคหนึ่งที่อันตรายไม่แพ้ข้างต้น โรคนั้นคือ Human papilloma virus(HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูก(Cervical Cancer) และมะเร็งช่องปาก(Oral Cancer)!

ในฐานะที่ช่วงนี้ #ฟันดีดี ของเราได้วนเวียนอยู่กับเรื่องของมะเร็งช่องปาก วันนี้จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับโรค HPV คืออะไร และส่งผลถึงความเสี่ยงเป็น ‘มะเร็งช่องปาก’ ได้อย่างไร?

การติดต่อของ HPV และออรัลเซ็กส์

Human papilloma virus (HPV) คือตัวการสำคัญในการเกิด มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) ทำให้ผู้หญิงมักตกเป็นเป้าของเชื้อหรือโรคตัวนี้อยู่บ่อยๆ

จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิง 4 ใน 5 คน เคยติดเชื้อ HPV
โดยส่วนใหญ่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกก็ตาม
เพราะ HPV ติดต่อได้จากการสัมผัส ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทั่วไป
โดยเฉพาะออรัลเซ็กซ์ และการจูบ

สำหรับผู้ชายต้องระวังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการทำออรัลเซ็กส์ เพราะสามารถติดเชื้อ HPV จากพาหะนำเชื้อได้เช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง HPV และมะเร็งช่องปาก

แม้ว่าการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ยังไม่ได้พิสูจน์ 100% ว่าเชื้อ HPV จะเป็นสาเหตุสำคัญ 100% ที่ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก แต่ก็พบรายงานหลายตัวที่บ่งบอกถึงปัจจัยการมีออรัลเซ็กส์และมีเชื้อ HPV จะส่งผลถึง มะเร็งช่องปาก

New England Journal of Medicine รายงานว่าผู้ที่เป็น
‘มะเร็งช่องปาก’ และมีกิจกรรมออรัลเซ็กส์ จะมีเชื้อ HPV สูงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 3 เท่า

แลพในการศึกษาของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งพบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปากมากกว่า 46,000 คนตลอดระยะเวลา 31 ปีในการศึกษา และในจำนวนผู้ป่วยเหล่านั้นพบว่า 17,500 คนได้รับเชื้อ HPV และเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งช่องปาก

การป้องกัน HPV ที่อาจส่งผลต่อมะเร็ง

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน HPV ไม่ใช่แค่ถุงยางแต่คือ’การฉีดวัคซีน’
แต่การฉีดวัคซีนจะได้ผลดีที่สุดในกลุ่ม #ยังจิ้น หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนเลย อายุไม่เกิน 21 ปี เด็กอายุ 9-10 ปีก็ฉีดได้ครับ (เพราะ HPV ติดได้ง่ายมาก) ถือเป็นวัคซีนมาตรฐานที่เด็กผู้หญิงควรได้รับเลยทีเดีย

ใครที่อยู่นอกเหนือเกณฑ์ยังฉีดวัคซีนได้อยู่ ถึงจะป้องกันได้น้อยกว่า หมอก็แนะนำให้ป้องกันร่วมกับการใส่ถุงยางอนามัย และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ก็ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน

ที่สำคัญ จะรู้ว่าเราติดเชื้อได้ เราต้องไปตรวจเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้องสงสัยเป็นประจำ โดยเฉพาะปากมดลูก ที่ต้องตรวจทุกปี เพราะในระยะเริ่มต้นจะสังเกตอาการได้ยาก กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้วครับ